Archive

Archive for October, 2020

การร่างรธน.และการพัฒนาประเทศ

October 14th, 2020 Comments off

ช่วงนี้ก็มีกระแสร่าง รธน. ฉบับประชาชน ถ้าโดยส่วนตัวถามผมว่าร่าง รธน. ใหม่โดยให้ประชาชนร่างแล้วประเทศจะเจริญไหม ในบริบทนี้ผมตอบเลยว่าไม่

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า รธน. คือกฎหมายที่ว่าด้วยการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ที่เราเห็นก็คือ สส. สว. มีที่มาอย่างไร ครม. มีที่มาอย่างไร คนเหล่านี้ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติและบริหาร จึงมีส่วนมากในการกำหนดทิศทางของประเทศ ทีนี้หลายคนสงสัยว่าทำไมเมื่อเกิดการ รปห. แล้วจึงต้องการมีฉีกรธน. อันนี้บางคนให้ความเห็นว่าต้องการเขียน รธน.ใหม่เพื่อนิรโทษตัวเอง แต่จริง ๆ หลักการ คือ การ รปห. เองไม่ใช่วิถีทางการเข้าสู่อำนาจการเมืองตามที่ระบุไว้ใน รธน. เพื่อไม่ให้ขัดกันกับ รธน. จึงต้องหยุดประกาศใช้ รธน. นั้น เราจะเห็นว่าเมื่อหลังจากการ รปห. แล้ว มีสภานิติบัญญัติหรือมี ครม. ขึ้นมาโดยไม่ได้มาตามวิธีการที่ระบุไว้ใน รธน. นั่นเอง เป็นเหตุให้ต้องหยุดใช้ รธน. นั้น

ทีนี้มาพูดถึงเมื่อคุณมีอำนาจในการร่าง รธน. ฉบับใหม่แล้ว คุณทำอะไรได้ คำตอบคือคุณสามารถเลือกได้ ว่าการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของคนกลุ่มถัดไปจะทำอย่างไร ดังนั้นเราจะเห็นว่าทุกครั้งที่มี รธน. ใหม่มันคือโจทย์ที่คณะรัฐประหารได้ตั้งไว้และคาดหวังว่ารัฐบาลต่อมาจะเข้าใจ เรื่องนี้เห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ รธน. ปี 40 เป็นต้นมา เริ่มการที่เกิด Buffet Cabinet ขึ้นเนื่องจากสมัยนั้นเดิมเคยให้มีการลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างอิสระ กลายเป็นว่าเมื่อได้เป็น สส. แล้วกลับเข้ามารวมกันเพียงเพื่อผลประโยชน์โดยปราศจากอุดมการณ์ทางการเมือง รธน. ปี 40 จึงได้เน้นหนักไปที่การผู้สมัครต้องเข้าร่วมพรรคการเมือง พร้อมกับการเลือก สว. เป็นครั้งแรก เมื่อเกิด รปห. ปี 49 ก็มีการร่าง รธน. ใหม่โดยเห็นว่าการให้ประชาชนเลือก สว. นั้นไม่ดีเป็นปัญหาคนที่ได้มาจากวิธีนี้ไม่มีความต่างกับ สส. เมื่อมาปี 57 รัฐบาลก็แสดงให้เห็นถึงความขาดความสามารถและขาดความเข้าใจว่า รธน. นั้นต้องการอะไรจะกลับไปเลือก สว. อีกครั้งจึงเกิด รปห. อีกครั้งตามมา

ทีนี้พูดมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าในเมื่อสามารถคัดคนเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้แล้วทำไมประเทศถึงไม่พัฒนา อันนี้ต้องตอบว่า

  • สิทธิใดที่เคยได้แล้ว รธน. ฉบับใหม่จะไม่เขียนริดรอนสิทธิจะคงสิทธิอย่างนั้นไว้ ดังนั้นการเลือกตั้งเมื่อเป็นการเลือกตั้งโดยทั่วไปแล้ว ย่อมเป็นการเลือกตั้งโดยทั่วไปอีก (การเลือกตั้งโดยทั่วไปคือการเลือกแบบหนึ่งคนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเสมอกัน)
  • คนส่วนมากเข้าใจผิดว่าการมาจากการเลือกตั้งนั้นดี ดีนั้นต้องแยกว่าดีด้านไหน ดีในด้านการตรวจสอบการเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ดีในด้านนั้นไม่อาจรับประกันได้ว่าจะได้คนที่รู้ว่าประเทศจะพัฒนาอย่างไร ซึ่งนี่ต่างหากคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ
  • เมืองไทยเข้าใจผิดว่าการพัฒนาประเทศจะเริ่มจากภายในสู่ภายนอก นี่เป็นสิ่งที่ผิดเพราะประเทศที่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วนั้นทำกลับกันคือ เริ่มจากมองภายนอกเพื่อพัฒนาสู่ภายใน
  • ดังนั้นโดยสรุปเลยคือ เมื่อประชาชนมีโอกาสร่าง รธน. แล้วจะมัวแต่สนใจเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลหรือการมาจากเสียงประชาชนมากจนไม่เข้าใจว่า การที่ประเทศจะพัฒนาได้เราต้องได้คนที่มีคุณภาพคนที่ทราบว่าจะพัฒนาประเทศอย่างไรต่างหาก ซึ่งหากทำอย่างนั้นไม่ได้ประเทศก็ย่อมไม่สามารถพัฒนาได้
  • ท้ายนี้ผมจะยกตัวอย่างประเทศสองประเทศที่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลแต่สามารถพัฒนาได้คือ จีน และสิงคโปร์ทั้งสองประเทศนี้โดยเนื้อแท้เป็นเผด็จการแต่กลับสามารถพัฒนาได้ ตราบใดที่คนไทยยังไม่เข้าใจว่าการพัฒนาประเทศนั้นต้องทำอย่างไรก็จะจมปลักกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยเสียเวลาเปล่านั่นแล
Categories: Uncategorized Tags: