Archive

Archive for the ‘laws’ Category

ใครต้องจ่ายเงินเดือนให้กรณีห้างร้านปิดเพราะ COVID-19

March 29th, 2020 Comments off

อันนี้เป็นปัญหาทางกฎหมายนะครับ เพราะว่ามีห้างร้านที่ต้องปิดเนื่องมาจากคำสั่งรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น ห้างสรรพสินค้า

กรณีนี้ว่าตามกฎหมายแพ่งการทำงานแล้วได้รับเงินเดือนนี่เป็นหนี้ต่างตอบแทนนะครับ คือพนักงานอยู่ในสถานะเป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้และในทางเดียวกันห้างร้านเองก็เป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ไปในตัว พนักงานมีหน้าที่ทำงานให้และห้างร้านมีหน้าที่จ่ายเงินเดือนตอบแทนงานที่พนักงานที่ได้ทำไป ในกรณีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ชำระหนี้อีกฝ่ายย่อมสามารถปฏิเสธการชำระหนี้ได้เช่นกัน คือ เมื่อเหตุดังกล่าวไม่ได้เป็นความผิดของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ห้างร้านย่อมไม่ต้องจ่ายเงินเดือนเนื่องจากพนักงานไม่ได้ทำงานให้

แต่ทางรัฐบาลเองก็ออกมาบอกว่าสามารถรับเงินจากการทุนประกันสังคมได้ ในกรณีนี้คือก็ต้องไปรับเงินกับทางกองทุน แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปเรียกร้องกับทางห้างร้านที่จ้างคุณได้ คนที่ห้างร้านยินดีจ่ายเงินให้เต็มเหมือนคุณทำงานให้นี่โชคดีมาก ๆ นะครับ

Categories: laws Tags:

การพัฒนาระบบราชการจะต้องเริ่มจากการเปิดเผยการดำเนินงานของราชการในเรื่องลับ ลับมากหรือลับที่สุด

March 25th, 2020 Comments off

ถ้าเรากลับไปดูนิยามของคำว่าลับ ลับมาก ลับที่สุด ให้นิยามตามระเบียบว่าคือข้อมูลที่หากผู้ไม่มีอำนาจล่วงรู้จะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศหรือความสงบในราชอาณาจักรหรือพันธมิตร แต่การให้นิยามแบบนี้มีเรื่องที่ไม่จริงอย่างหนึ่งคือ ภัยใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับราชอาณาจักรจะไม่เป็นเรื่องถาวร ไม่มีทางที่ภัยใด ๆ จะอยู่ไปตลอด เรายกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คอมมิวนิสต์ ปีที่เขียนเรื่องนี้คือปี 63 แน่นอนว่าโลกทั้งโลกเห็นแล้วว่าคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องเพ้อฝันแล้วการทำลายชนชั้นไม่สามารถทำได้เพราะแม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เชื่อว่าชนชั้นกรรมชีพควรเป็นผู้นำประเทศเองก็ไม่สามารถดำเนินการตามนั้นได้

เพราะฉะนั้นถ้าเราย้อนกลับไปดูเอกสารทางราชการต่าง ๆ ที่เคยนิยามว่าลับ ลับมากหรือลับที่สุดในเรื่องที่เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ตอนนี้แล้วย่อมสามารถทำได้ โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือพันธมิตร ซึ่งบางกรณีคนที่เกี่ยวข้องอาจจะเสียชีวิตไปหมดแล้วก็ได้

ดังนั้นเอกสารที่เคยนิยามว่าเป็นเอกสารลับในเรื่องคอมมิวนิสต์ก็ควรถูกเปิดเผยได้ จริง ๆ เรื่องนี้มีแนวการปฏิบัติของประเทศอเมริกาที่เอกสารไม่ว่าจะเป็นเรื่องลับแค่ไหนก็ตามจะต้องถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน(Executive Order 13526 ที่เพิ่งออกในปี 2009 โดยโอบามา) ผมมองว่าการที่เอกสารพวกนี้ถูกกำหนดว่าชั้นความลับโดยหัวหน้าหน่วยมันง่ายเกินไป แล้วการที่ไม่มีกำหนดเวลาในการเปิดเผยทำให้เราหมดโอกาสในการเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตอนนี้กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความลับคือระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการล่าสุดคุณอภิสิทธิ์เป็นคนเซนต์ จะมีหมวดว่าด้วยการละเมิดความลับหลักการคือ อะไรที่เป็นความลับต้องเป็นความลับตลอดไปหากเผยแพร่ต้องแก้คือถือว่าเป็นปัญหา โดยหลักการเลยไทยมีกฎหมายกำหนดชั้นความลับ แต่ไม่มีกฎหมายยกเลิกชั้นความลับ แต่เรื่องนี้ยังเป็น concept ใหม่อเมริกายังเพิ่งมีเมื่อสิบปีที่แล้วเอง แต่ผมคิดว่าเราไล่ตามเค้าทันได้

ส่วนตัวผมเชื่อว่าหากเราสามารถเปิดเผยเอกสารในอดีตเช่นนี้ได้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ เช่น เราจะได้เห็นมุมมองของหน่วยงานรัฐที่มีต่อเหตุการณ์หรือบุคคลในอดีต การดำเนินการ หรือวิธีการดำเนินการและผลกระทบของมันว่าแนวคิดดังกล่าวก่อให้เกิดผลดีผลเสียอย่างไร ปัญหาที่แนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดหน่วยงานรัฐหรือประชาชนหรือแม้ต่อฝ่ายบริหารนิติบัญญัติเหล่านี้จะเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาเป็นแนวทางการดำเนินงานในอนาคตได้

Categories: laws Tags:

ข้อมูลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลฯ เป็นของใคร ?

March 23rd, 2020 Comments off

พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการฯ นี่ออกมา 20 กว่าปีแล้วนะครับ แต่หลาย ๆ หน่วยยังไม่เข้าใจตัวคอนเซปท์ของ พ.ร.บ.นี้ จะออกไปแนวไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ แต่จุดที่มักจะผิดกันนี่ไม่ใช่จุดนั้น แต่จะเป็นเรื่องข้อมูลเป็นของใคร ตัวอย่างง่าย ๆ เลยคือ การทำหนังสือเดินทาง เวลาที่เราไปทำหนังสือเดินทางเอาบัตรประชาชนไปด้วย กต.จะสแกนลายนิ้วมือเรา ถ่ายรูปเราเพื่อทำหนังสือเดินทาง ทุกหน่วยเข้าใจว่าข้อมูลหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นของ กต. แต่ผิดครับ ข้อมูลหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นของเรา คือของบุคคลที่ไปทำหนังสือเดินทางครับ

ดังนั้นหากไปขอข้อมูลที่เป็นข้อมูลของตัวเราแล้วไม่ว่าจะหน่วยงานไหนก็ต้องให้เรา เราขอในฐานะเจ้าของข้อมูลครับ ตัวหน่วยงานเป็นเพียงหน่วยงานที่เอาข้อมูลของเราไปใช้เพื่อการใดการหนึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าของข้อมูลครับ ตัวอย่างเช่นหนังสือเดินทางที่ทำหน่วยงานเอาข้อมูลดังกล่วเพื่อทำหนังสือเดินทางครับ

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามข้อมูลส่วนบุคคลที่ว่ามีข้อยกเว้นในการให้อยู่คือในการให้เพื่อกรณีดังมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ได้นะครับ

Categories: laws Tags:

ปัญหาทางกฎหมายเรื่องการตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า

March 18th, 2020 Comments off

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าผิดกันค่อนข้างมากเรื่องอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ในเรื่องการตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพียงฉบับเดียวนะครับเท่าที่ผมหาเจอคือ https://bit.ly/38SHbX2 ในตัวกฎหมายเพียงจะบอกว่านำข้อมูลไปเพื่อวางแผน ไม่ได้ระบุขนาดว่าเจ้าพนักงานสามารถระงับการเดินทางจากการคัดกรองล่วงหน้าได้นะครับ ตัวอย่างเช่น นายเอต้องการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังราชอาณาจักรแม้เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตก็ไม่ถือว่าการไม่อนุญาตด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงาน ด้วยเหตุผลที่ว่าเจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจเพียงแต่ในราชอาณาจักรเท่านั้น การที่ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองเป็นความเข้าใจผิดของสายการบินเอง และจะกลายเป็นว่าสายการบินไม่สามารถชำระหนี้ได้โดยไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยและสายการบินเองต้องรับผิดชอบทางแพ่งเพราะเป็นผู้ผิดสัญญา

Categories: laws Tags:

ปัญหาทางกฎหมายเรื่องการห้ามคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักร

March 18th, 2020 Comments off

อันนี้เป็นปัญหาที่สมมติขึ้นมาเล่น ๆ หากตรงกับเรื่องจริงแสดงว่าบังเอิญ สมมติว่ากรม ส. พบว่าคนต่างด้าวยังไม่ได้จ่ายเงินภาษี จึงทำหนังสือไปยัง สำนักงาน ต. ขอความร่วมมือไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะมีปัญหาดังต่อไปนี้

  • สำนักงาน ต. มีอำนาจในการห้ามคนต่างด้าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักรหรือไม่ ?
  • หากคนต่างด้าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักรมีกฎหมายใดให้อำนาจกระทำการใด ๆ บ้าง ?
  • กรณีนี้ถ้าเป็นผมคิดว่าควรจะทำอย่างไร ?

อย่างแรกเลยไม่มีกฎหมายข้อใดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการห้ามคนต่างด้าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักรครับ มีแต่การให้อำนาจในการผลักดันหรือห้ามไม่ให้เข้าประเทศครับ ดังนั้นตัดเรื่องอำนาจจาก พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ไปได้ครับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกฉบับคือ ประมวลรัษฎากร
มาตรา 4 นว คนต่างด้าวผู้ใดเดินทำงออกจากประเทศไทยโดยไม่มีใบผ่านภาษี อากร ซึ่งต้องมีตามความในประมวลรัษฎากรนี้ ต้องระวำงโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือจำคุกไม่ เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ คนต่างด้าวผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นว่าเจ้าพนักงานสามารถดำเนินคดีกับคนต่างด้าวได้โดยอาศัยอำนาจตาม ประมวลรัษฏกร

ทีนี้คำถามยังไม่จบนะครับกรณีที่คนต่างด้าวถูกลงโทษทางอาญาไปแล้ว หากต้องการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรอีกครั้งจะทำอย่างไร เพราะโทษทางอาญาต้องไม่โดนลงโทษซ้ำอย่างเด็ดขาด ทางแก้ก็เหมือนเดิมครับกลับไปดูประมวลรัษฎากรอีกครั้งจะมีเรื่องการให้คนต่างด้าวทำประกันก่อนเพื่อรับใบผ่านภาษีตามมาตรานี้
มาตรา 4 อัฏฐ คนต่างด้าวซึ่งมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าออกประเทศไทยเป็น ปกติธุระเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ จะยื่นคำร้องต่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ ได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี ขอให้ออกใบผ่านภาษีอากรให้ใช้เป็นประจำก็ได้ ถ้าผู้รับคำร้องพิจารณา เห็นว่าคนต่างด้าวผู้นั้นมีความจำเป็นดังที่ร้องขอ และมีหลักประกันหรือหลักทรัพย์อยู่ในประเทศไทย พอคุ้มค่าภาษีอากรที่ค้างหรือที่จะต้องชำระแล้ว จะออกใบผ่านภาษีอากรให้ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ก็ได้ใบผ่านภาษีอากรเช่นว่านี้ให้มีกำหนดเวลาใช้ได้ตามที่ระบุในใบผ่านภาษีอากรนั้น แต่ต้องไม่เกิน กว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันออก

เจ้าพนักงานก็สามารถอ้างว่าคนต่างด้าวยังไม่มีใบผ่านภาษีไม่สามารถอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ และการเดินทางครั้งหลังก็เป็นอีกกรรมหนึ่งจึงไม่ใช่การลงโทษซ้ำ

แต่โดยความคิดผมเห็นว่าวิธีการนี้ค่อนข้างยุ่งยากแล้วเป็นการยากที่จะให้เจ้าพนักงานอีกหน่วยเข้าใจกฎหมายที่หน่วยงานตนเองรับผิดชอบอยู่ โดยหากเชื่อว่าคนต่างด้าวจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจริง กรม ส. ควรฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อทำการสืบทรัพย์และขอให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวดังกล่าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้และส่งคำสั่งศาลไปยังอีกหน่วยจะรวบรัดกว่า เรื่องนี้คิดอยู่สามวัน

Categories: laws Tags: