การพัฒนาระบบราชการจะต้องเริ่มจากการเปิดเผยการดำเนินงานของราชการในเรื่องลับ ลับมากหรือลับที่สุด
ถ้าเรากลับไปดูนิยามของคำว่าลับ ลับมาก ลับที่สุด ให้นิยามตามระเบียบว่าคือข้อมูลที่หากผู้ไม่มีอำนาจล่วงรู้จะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศหรือความสงบในราชอาณาจักรหรือพันธมิตร แต่การให้นิยามแบบนี้มีเรื่องที่ไม่จริงอย่างหนึ่งคือ ภัยใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับราชอาณาจักรจะไม่เป็นเรื่องถาวร ไม่มีทางที่ภัยใด ๆ จะอยู่ไปตลอด เรายกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คอมมิวนิสต์ ปีที่เขียนเรื่องนี้คือปี 63 แน่นอนว่าโลกทั้งโลกเห็นแล้วว่าคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องเพ้อฝันแล้วการทำลายชนชั้นไม่สามารถทำได้เพราะแม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เชื่อว่าชนชั้นกรรมชีพควรเป็นผู้นำประเทศเองก็ไม่สามารถดำเนินการตามนั้นได้
เพราะฉะนั้นถ้าเราย้อนกลับไปดูเอกสารทางราชการต่าง ๆ ที่เคยนิยามว่าลับ ลับมากหรือลับที่สุดในเรื่องที่เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ตอนนี้แล้วย่อมสามารถทำได้ โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือพันธมิตร ซึ่งบางกรณีคนที่เกี่ยวข้องอาจจะเสียชีวิตไปหมดแล้วก็ได้
ดังนั้นเอกสารที่เคยนิยามว่าเป็นเอกสารลับในเรื่องคอมมิวนิสต์ก็ควรถูกเปิดเผยได้ จริง ๆ เรื่องนี้มีแนวการปฏิบัติของประเทศอเมริกาที่เอกสารไม่ว่าจะเป็นเรื่องลับแค่ไหนก็ตามจะต้องถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน(Executive Order 13526 ที่เพิ่งออกในปี 2009 โดยโอบามา) ผมมองว่าการที่เอกสารพวกนี้ถูกกำหนดว่าชั้นความลับโดยหัวหน้าหน่วยมันง่ายเกินไป แล้วการที่ไม่มีกำหนดเวลาในการเปิดเผยทำให้เราหมดโอกาสในการเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ตอนนี้กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความลับคือระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการล่าสุดคุณอภิสิทธิ์เป็นคนเซนต์ จะมีหมวดว่าด้วยการละเมิดความลับหลักการคือ อะไรที่เป็นความลับต้องเป็นความลับตลอดไปหากเผยแพร่ต้องแก้คือถือว่าเป็นปัญหา โดยหลักการเลยไทยมีกฎหมายกำหนดชั้นความลับ แต่ไม่มีกฎหมายยกเลิกชั้นความลับ แต่เรื่องนี้ยังเป็น concept ใหม่อเมริกายังเพิ่งมีเมื่อสิบปีที่แล้วเอง แต่ผมคิดว่าเราไล่ตามเค้าทันได้
ส่วนตัวผมเชื่อว่าหากเราสามารถเปิดเผยเอกสารในอดีตเช่นนี้ได้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ เช่น เราจะได้เห็นมุมมองของหน่วยงานรัฐที่มีต่อเหตุการณ์หรือบุคคลในอดีต การดำเนินการ หรือวิธีการดำเนินการและผลกระทบของมันว่าแนวคิดดังกล่าวก่อให้เกิดผลดีผลเสียอย่างไร ปัญหาที่แนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดหน่วยงานรัฐหรือประชาชนหรือแม้ต่อฝ่ายบริหารนิติบัญญัติเหล่านี้จะเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาเป็นแนวทางการดำเนินงานในอนาคตได้
Recent Comments