Home > Uncategorized > การร่างรธน.และการพัฒนาประเทศ

การร่างรธน.และการพัฒนาประเทศ

October 14th, 2020

ช่วงนี้ก็มีกระแสร่าง รธน. ฉบับประชาชน ถ้าโดยส่วนตัวถามผมว่าร่าง รธน. ใหม่โดยให้ประชาชนร่างแล้วประเทศจะเจริญไหม ในบริบทนี้ผมตอบเลยว่าไม่

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า รธน. คือกฎหมายที่ว่าด้วยการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ที่เราเห็นก็คือ สส. สว. มีที่มาอย่างไร ครม. มีที่มาอย่างไร คนเหล่านี้ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติและบริหาร จึงมีส่วนมากในการกำหนดทิศทางของประเทศ ทีนี้หลายคนสงสัยว่าทำไมเมื่อเกิดการ รปห. แล้วจึงต้องการมีฉีกรธน. อันนี้บางคนให้ความเห็นว่าต้องการเขียน รธน.ใหม่เพื่อนิรโทษตัวเอง แต่จริง ๆ หลักการ คือ การ รปห. เองไม่ใช่วิถีทางการเข้าสู่อำนาจการเมืองตามที่ระบุไว้ใน รธน. เพื่อไม่ให้ขัดกันกับ รธน. จึงต้องหยุดประกาศใช้ รธน. นั้น เราจะเห็นว่าเมื่อหลังจากการ รปห. แล้ว มีสภานิติบัญญัติหรือมี ครม. ขึ้นมาโดยไม่ได้มาตามวิธีการที่ระบุไว้ใน รธน. นั่นเอง เป็นเหตุให้ต้องหยุดใช้ รธน. นั้น

ทีนี้มาพูดถึงเมื่อคุณมีอำนาจในการร่าง รธน. ฉบับใหม่แล้ว คุณทำอะไรได้ คำตอบคือคุณสามารถเลือกได้ ว่าการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของคนกลุ่มถัดไปจะทำอย่างไร ดังนั้นเราจะเห็นว่าทุกครั้งที่มี รธน. ใหม่มันคือโจทย์ที่คณะรัฐประหารได้ตั้งไว้และคาดหวังว่ารัฐบาลต่อมาจะเข้าใจ เรื่องนี้เห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ รธน. ปี 40 เป็นต้นมา เริ่มการที่เกิด Buffet Cabinet ขึ้นเนื่องจากสมัยนั้นเดิมเคยให้มีการลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างอิสระ กลายเป็นว่าเมื่อได้เป็น สส. แล้วกลับเข้ามารวมกันเพียงเพื่อผลประโยชน์โดยปราศจากอุดมการณ์ทางการเมือง รธน. ปี 40 จึงได้เน้นหนักไปที่การผู้สมัครต้องเข้าร่วมพรรคการเมือง พร้อมกับการเลือก สว. เป็นครั้งแรก เมื่อเกิด รปห. ปี 49 ก็มีการร่าง รธน. ใหม่โดยเห็นว่าการให้ประชาชนเลือก สว. นั้นไม่ดีเป็นปัญหาคนที่ได้มาจากวิธีนี้ไม่มีความต่างกับ สส. เมื่อมาปี 57 รัฐบาลก็แสดงให้เห็นถึงความขาดความสามารถและขาดความเข้าใจว่า รธน. นั้นต้องการอะไรจะกลับไปเลือก สว. อีกครั้งจึงเกิด รปห. อีกครั้งตามมา

ทีนี้พูดมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าในเมื่อสามารถคัดคนเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้แล้วทำไมประเทศถึงไม่พัฒนา อันนี้ต้องตอบว่า

  • สิทธิใดที่เคยได้แล้ว รธน. ฉบับใหม่จะไม่เขียนริดรอนสิทธิจะคงสิทธิอย่างนั้นไว้ ดังนั้นการเลือกตั้งเมื่อเป็นการเลือกตั้งโดยทั่วไปแล้ว ย่อมเป็นการเลือกตั้งโดยทั่วไปอีก (การเลือกตั้งโดยทั่วไปคือการเลือกแบบหนึ่งคนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเสมอกัน)
  • คนส่วนมากเข้าใจผิดว่าการมาจากการเลือกตั้งนั้นดี ดีนั้นต้องแยกว่าดีด้านไหน ดีในด้านการตรวจสอบการเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ดีในด้านนั้นไม่อาจรับประกันได้ว่าจะได้คนที่รู้ว่าประเทศจะพัฒนาอย่างไร ซึ่งนี่ต่างหากคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ
  • เมืองไทยเข้าใจผิดว่าการพัฒนาประเทศจะเริ่มจากภายในสู่ภายนอก นี่เป็นสิ่งที่ผิดเพราะประเทศที่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วนั้นทำกลับกันคือ เริ่มจากมองภายนอกเพื่อพัฒนาสู่ภายใน
  • ดังนั้นโดยสรุปเลยคือ เมื่อประชาชนมีโอกาสร่าง รธน. แล้วจะมัวแต่สนใจเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลหรือการมาจากเสียงประชาชนมากจนไม่เข้าใจว่า การที่ประเทศจะพัฒนาได้เราต้องได้คนที่มีคุณภาพคนที่ทราบว่าจะพัฒนาประเทศอย่างไรต่างหาก ซึ่งหากทำอย่างนั้นไม่ได้ประเทศก็ย่อมไม่สามารถพัฒนาได้
  • ท้ายนี้ผมจะยกตัวอย่างประเทศสองประเทศที่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลแต่สามารถพัฒนาได้คือ จีน และสิงคโปร์ทั้งสองประเทศนี้โดยเนื้อแท้เป็นเผด็จการแต่กลับสามารถพัฒนาได้ ตราบใดที่คนไทยยังไม่เข้าใจว่าการพัฒนาประเทศนั้นต้องทำอย่างไรก็จะจมปลักกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยเสียเวลาเปล่านั่นแล
Categories: Uncategorized Tags:
Comments are closed.