Whiplash อะไรทำให้คนก้าวข้ามผ่านขีดจำกัด
ผมชอบหนังเรื่องนี้มากตรงที่ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับดนตรีเรื่องแรกที่ดูแล้ว อึ้งว่าดนตรีมันก็หลักเหลี่ยมกันได้แฮะ แนะนำว่าเป็นหนังที่ดูเรื่องหนึ่งเลยครับ
ประเด็นที่ผมอยากจะพูดเกี่ยวกับหนังก็คือ ไอ้วิธีการที่ เฟลชเชอร์ ใช้ตลอดทั้งเรื่องมันคือวิธีการที่ถูกหรือเปล่า ? การกดดันเพียงอย่างเดียวสามารถทำให้เราก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดได้หรือไม่ ?
ผมเรียนโรงเรียนคริสต์เตียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ สมัยประถมมีมาสเตอร์ท่านหนึ่งสอนวิชาภาษาอังกฤษ มาสเคอร์อันโตนิโอ (เรียกกันเล่น ๆ ในหมู่ผู้ปกครองว่า “ปู่โต”) แกมีวิธีการสอนที่เป็นที่เลื่องลือครับ ทุกครั้งที่แกสอนภาษาอังกฤษแกจะมาพร้อมกับไม้ไผ่พันมาสกิ้งเทปยาวเมตรกว่า แกสอน conversation เป็นหลักแต่จะเน้นการอ่าน (หนังสือการอ่านของแกเป็นเล่มสีเหลือง ๆ เล็ก ซึ่งมีมุขตลกประปราย) แต่วิธีการสอนของแกค่อนข้างจะเครียดครับ แกจะสุ่มให้นักเรียนอ่านเป็นรายบุคคล ใครอ่านไม่ได้จะโดนฟาดด้วยไม้ที่แกเตรียมมา เสียงฟั่บดังและฟังชัด พร้อมกับด่าว่าไอ้ควายใบ้
ผลครับสมัยนั้นโรงเรียนเป็นที่เลื่องลือในความเก่งภาษาอังกฤษของบรรดานักเรียนครับ แต่สำหรับผมเอากันจริง ๆ แทบไม่ได้อะไรครับ พื้นฐานที่ดีส่วนใหญ่มาจากการท่อง vocab ที่ครูภาษาไทยเป็นคนสอนมากกว่าครับ แต่ก็ถือว่ามีพื้นฐานทางภาษาที่ดีพอสมควรแต่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ครับ
จนกระทั่ง ม.ปลาย ครับ ม.ปลายจะมีมาสเตอร์สอนพร้อมกับครูต่างชาติครับ เน้นการสนทนาเป็นหลัก วันหนึ่งผมโดนถามในห้องครับซึ่งก็ตามสไตล์ผมแต่งประโยคที่จะพูดเองซึ่งก็ทำให้มาสเตอร์ค่อนข้างพอใจครับ แกก็ชมผมครับ คือ มันไม่ใช่แค่ feedback ที่ดี แต่มันบอกเราว่าจุดแข็งของเราคืออะไรใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ตั้งแต่นั้นผมไม่กลัวภาษาอังกฤษอ่าน text และพูดกับชาวต่างชาติได้อย่างสบาย ๆ
เพราะฉะนั้นการกดดันของ เฟลชเชอร์ หรือปู่โตไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมา ไม่ได้บอกว่าอะไรคือจุดแข็งจุดอ่อนที่ควรแก้ ผมไม่ได้ต่อต้านวิธีการที่กดดันนะครับ แต่การจะกดดันต้องบอกด้วยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำพลาดไปและอะไรคือจุดแข็งที่สามารถทำให้ตัวผู้รับพัฒนาขึ้นได้ครับ
Recent Comments